ข้อกังวลยอดฮิตของคุณแม่มือใหม่

2015-09-11 14:50:01  จำนวนผู้เข้าชม
โดย ".นายภัทรพล กลิ่นรัตน์


      

ในช่วงเดือนแรกของคุณแม่มือใหม่ บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าอาการและพฤติกรรมต่าง ๆของลูกเป็นปกติหรือไม่ประเด็นที่คุณแม่มักจะรู้สึกสงสัยและเป็นกังวลอยู่บ่อย ๆ ได้แก่ 

เลือดออกจากสะดือ ในภาวะปกติสายสะดือจะแห้งและหลุดเองภายใน 1-2 สัปดาห์หลังคลอด เมื่อหลุดอาจมีเลือดซึมออกมาได้บ้างเป็นเรื่องปกติ ระหว่างที่ยังไม่หลุดควรทำความสะอาดด้วยการเช็ดตัว ซับรอบ ๆ อย่างเบามือ ที่สำคัญคือพยายามให้แห้งอยู่ตลอดเวลา ควรใช้เสื้อผ้าหลวม ๆ ถ้าหากขอบผ้าอ้อมสูงเลยสายสะดือ ควรใช้กรรไกรตัดส่วนเกินนี้ออก ไม่ควรโรยแป้งฝุ่นหรือช่วยดึงสายสะดือให้หลุดออก เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย 

การมองเห็นและการได้ยิน ทารกสามารถมองเห็นได้ไกล 8-12 นิ้วตั้งแต่แรกเกิด ประมาณระยะห่างขณะที่ลูกดูดนมจากเต้ามองมาที่ใบหน้าของแม่ สีที่มองได้ชัดที่สุดคือสีขาวดำตัดกัน การได้ยินของทารก พัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่แรกเกิด เสียงที่ทารกสนใจที่สุดคือเสียงของผู้หญิง ดังนั้นการที่ลูกได้ดูดนมจากอก สบตาและได้ยินเสียงแม่ จึงเป็นสิ่งที่ลูกสามารถสัมผัสถึงความสุขได้อย่างเต็มอิ่ม

วางนอนแล้วตื่นทุกที ต้องอุ้มตลอดเวลา การนอนของเด็กทารกมี 2 ระยะ คือหลับตื้นและหลับลึก คุณแม่สามารถสังเกตเองได้ว่าลูกหลับอยู่ในระยะไหน ในระยะหลับตื้น จะเห็นลูกตากลิ้งไปมาใต้เปลือกตาที่ปิดอยู่จังหวะการหายใจยังไม่สม่ำเสมอ อาจนอนดิ้น ถอนหายใจ ทำปากเหมือนดูดนม หรือยิ้ม ในช่วงนี้จะถูกปลุกตื่นได้ง่าย ส่วนในระยะหลับลึก ลูกตาจะไม่กลิ้งไปมา หายใจช้าลงและเป็นจังหวะ 

สะอึกบ่อย การสะอึกเกิดจากการหดตัวแบบผิดจังหวะของกล้ามเนื้อกระบังลม ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่กั้นระหว่างปอดและช่องท้อง มีหน้าที่ช่วยในการหายใจ การหดตัวแบบผิดจังหวะนี้เกิดจากการที่กระบังลมถูกรบกวน เช่นหลังทานนมอิ่ม ๆ ทารกอายุน้อยกว่า 3-4 เดือน ส่วนมากจะมีอาการสะอึกบ่อย ๆ และหยุดได้เอง เป็นเรื่องปกติแต่ในกรณีที่มีอาการสะอึกบ่อยและเป็นอยู่นานมากจนรบกวนการกินหรือการนอน ควรปรึกษาแพทย์ 

แหวะนมบ่อย อาการแหวะนม พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรก ทั้งนี้เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับนมเป็นของเหลวทำให้ไหลย้อนออกมาได้ง่ายลักษณะนมที่แหวะออกมาอาจเป็นน้ำนมเหมือนกับนมที่ดูดเข้าไป หรือเป็นลิ่มคล้ายเต้าหู้ สีขาว มีเมือกใส ๆ ปนอาจมีปริมาณเล็กน้อยไหลย้อยที่มุมปาก หรือบางครั้งอาจจะแหวะมากจนออกมาทั้งทางปากและจมูกจนคุณแม่กังวล ในกรณีที่หลังแหวะนมแล้วทารกยังดูดนมต่อได้ ดูอารมณ์ดี และเจริญเติบโตเป็นปกติ ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง 

ขอดูดนมตลอดเวลา การดูดนมของทารกแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ดูดเพื่อให้ได้น้ำนมกับดูดเล่น ๆ ช่วงที่ทารกหิว ต้องการดูดเพื่อให้ได้น้ำนม คุณแม่จะรู้สึกว่ามีแรงดูดจากช่องปาก ลิ้นเคลื่อนเป็นลอนคลื่น ไล่จากลานนมไปด้านหัวนมเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เมื่อดูดไปสักระยะ คุณแม่อาจรู้สึกว่าการดูดเปลี่ยนไปเหมือนเป็นการดูดเล่น ๆสังเกตได้จากแรงดูดที่ลดลง ดูดไม่สม่ำเสมอ บางครั้งเหมือนอมหัวนมไว้เฉย ๆ ข้อสังเกตที่จะช่วยให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าลูกได้น้ำนมพอเพียง โดยสังเกตจากการที่ลูกนอนหลับได้นาน ครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมงหลังดูดนมอิ่มปัสสาวะมีสีเหลืองอ่อนใส มีปริมาณปัสสาวะชุ่มผ้าอ้อมประมาณวันละ 6-8 ครั้ง 

เบ่งหน้าดำหน้าแดง ทารกบางคนอาจเบ่งนานถึง 10 นาทีก่อนจะถ่ายอุจจาระออกมาได้ โดยมีลักษณะอุจจาระนุ่มเป็นปกติ หลังถ่ายเสร็จสามารถเล่นหรือนอนหลับต่อได้และดูสบายดี อาการเช่นนี้ทางการแพทย์เรียกว่า infant dyschezia เกิดจากทารกยังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อช่องเชิงกรานให้คลายตัวในจังหวะที่สัมพันธ์กับการเบ่ง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเบ่งถ่ายอุจจาระยังไม่เก่ง พบอาการแบบนี้ได้ประมาณร้อยละ 17 ในเด็กอายุ 1เดือน และประมาณร้อยละ 6 ในเด็กอายุ 3 เดือน ส่วนมากอาการนี้จะหายไปก่อนอายุ 6 เดือน เพราะทารกเรียนรู้ที่จะเบ่งถ่ายอุจจาระได้แล้ว 

แผลจากการปลูกฝี ปฏิกิริยาทั่วไปจากการปลูกฝีคือ ระหว่างสัปดาห์ที่ 2-3 จะเกิดตุ่มแดง ๆ บริเวณที่ฉีดตุ่มจะโตขึ้นช้า ๆ กลายเป็นฝีเม็ดเล็ก ๆ และมีหัวหนอง เมื่อฝีแตกจะเกิดเป็นแผลกว้าง 4-5 มิลลิเมตร ไม่จำเป็นต้องใส่ยา เพียงใช้สำลีชุบน้ำเช็ดรอบแผลให้สะอาดก็พอ แผลจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะแห้งเป็นปกติแต่ถ้าแผลเป็น ๆ หาย ๆ นานกว่านี้ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต แดง เจ็บหรือเป็นหนอง ควรปรึกษาแพทย์ 

ผื่นต่าง  ทารกที่มีสุขภาพดีทั่วไป อาจพบผื่นตามแก้มตามตัวได้ ส่วนมากไม่ทำให้ทารกรู้สึกเจ็บหรือคันและมักจะจางหายไปได้เอง ผื่นที่พบบ่อย ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายและจางหายไปเอง ได้แก่ 

สิวเม็ดข้าวสาร (Milia) พบได้ตั้งแต่แรกเกิด มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเดี่ยว สีขาวหรือเหลืองอ่อน ขนาด 1-2มิลลิเมตร พบที่จมูก แก้มคางและหน้าผากได้บ่อย จะหลุดหายไปเองเมื่ออายุ 3-4 สัปดาห์ 

Erythema toxicum neonatorum มักจะเริ่มสังเกตได้หลังคลอดไม่กี่วัน ลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดง หรือเป็นจุดหนองเล็ก ๆ ขนาด 1-3 มิลลิเมตร บนฐานสีแดง พบได้ทั่วตัว เป็นอยู่นาน 2-16 วัน ก่อนจะยุบหายไปเองบางส่วนจะขึ้น ๆ ยุบ ๆ ย้ายที่ไปเรื่อย ๆ ในช่วง 1-2 เดือนแรก 

เซบเดร์ม (Seborrheic dermatitis) พบได้ตั้งแต่ช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด ลักษณะเป็นสะเก็ดหนา สีเหลืองเป็นมัน ติดเป็นแผ่น ๆ พบบ่อยบริเวณกระหม่อมและคิ้ว ส่วนมากจะหายไปหมดในช่วงอายุ 6-12 เดือนส่วนผื่นที่อาจเป็นอันตราย ได้แก่ ผื่นที่ลุกลามเร็ว ลักษณะนูนแบบลมพิษ ผิวแห้งแตก มีน้ำเหลืองซึมออกมา มีผื่นร่วมกับไข้ หรือลูกดูไม่สุขสบาย ควรปรึกษาแพทย์.

เอกสารอ้างอิง

กรองพร องค์ประเสริฐ. ข้อกังวลยอดฮิตของคุณแม่มือใหม่ [อินเทอร์เน็ต]. ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [วันที่อ้างถึง 11 ก.ย. 2558]. เข้าถึงได้จาก: http://sriphat.med.cmu.ac.th/thai/knowledge-64