โรควัณโรค (Tuberculosis หรือ TB)

2015-08-14 16:26:38  จำนวนผู้เข้าชม
โดย ".DIS&HA
โรงพยาบาลนครปฐม


      

        วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สำคัญและยังเป็นปัญหาสาธารณสุข เป็นสาเหตุการป่วยและการตายของหลายประเทศทั่วโลก การระบาดของวัณโรคเพิ่มมากขึ้นมีหลายสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV, ความยากจน, ความแออัดของที่อยู่อาศัย, การอพยพผู้คน เป็นต้น ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกรายงานว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลกติดเชื้อวัณโรคแล้ว โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8.8 ล้านคน และผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตปีละประมาณ 1.7 ล้านคน

         วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium โดยในไทยสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุด คือ Mycobacterium Tuberculosis โดยส่วนใหญ่จะเกิดการติดเชื้อที่บริเวณปอด (ร้อยละ 80) แต่ก็ยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเชื้อวัณโรคสายพันธุ์อื่น (Non-Tuberculosis Mycobacteria หรือ NTM) ซึ่งพบได้น้อยและการศึกษาถึงแนวทางการรักษาเชื้อเหล่านี้น้อยกว่าเชื้อวัณโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นอันตรายหากเกิดการดื้อต่อยาของเชื้อ ทำให้ยาที่ใช้รักษาวัณโรคจะถูกจำกัดจำนวนให้น้อยลงและรักษาได้ยากขึ้น[1]

         คุณลักษณะของเชื้อวัณโรค

- Mycobacterium tuberculosis มีรูปร่างแท่งไม่สามารถเคลื่อนที่ มีขนาดค่อนข้างใหญ่และต้องพึ่งพาออกซิเจนในการดำรงชีพ ด้วยเหตุนี้เองการติดเชื้อวัณโรคจะพบรอยโรคได้ที่ปอดกลีบบนเป็นส่วนใหญ่ เชื้อวัณโรคจะเข้าไปอาศัยและเจริญเติบโตช้าๆ (15-20 ซม.) เชื้อวัณโรคจัดอยู่ในกลุ่ม Acid-Fast bacteria เนื่องจากมีผนังเซลล์ที่หนา และมีส่วนประกอบสำคัญคือ mycolic acid ดังนั้นจำเป็นต้องอยู่ใรสภาวะกรด สีแกรมจึงจะสามารถผ่านเข้าเซลล์และย้อมติดสีได้ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญในการตรวจพบเชื้อนี้ ผู้ที่มีเชื้อวัณโรคอยู่แล้วซึ่งอาจจะมีอาการแสดงหรือไม่มีอาการของวัณโรคก็ได้ หากไอหรือจามเชื้อจะออกมาล่องลอยอยู่ในอากาศและเกาะกลุ่มกันเป็นหยดละอองซึ่งสามารถฟุ้งกระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจของผู้อื่น และทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ[1]

- การแพร่กระจายและพยาธิสภาพของวัณโรคปอด เชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายจากปอด หลอดลม หรือกล่องเสียงของผู้ป่วยวัณโรค เมื่อผู้ป่วยไอ จาม พูดดังๆ ตะโกน หัวเราะหรือร้องเพลง เชื้อเหล่านี้จะอยู่ในละอองฝอย (droplets) ของเสมหะที่ออกมาสู่อากาศ อนุภาคของ droplets ขนาดใหญ่มากมักจะตกลงสู่พื้นดินและแห้งไป ส่วนที่มีเชื้อจะลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง[2]

อาการแสดงของวัณโรคสามารถแบ่งตามระยะของการติดเชื้อ[1] ดังนี้

1. Early infective : 

  • ภูมิคุ้มกันสามารถจัดการกับเชื้อ
  • ไม่มีอาการแสดง
  • อาจพบอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หายใจลำบาก
  • การติดเชื้อไม่อาจก่อโรคได้

2. Early Primary progessive :

  • ภูมิคุ้มกันไม่สามารถจัดการและควบคุมการเจริญของเชื้อได้
  • เกิดการอักเสบที่เนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อ
  • อาการ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไข้ โดยเกิดอย่างไม่เฉพาะเจาะจง มีไอแห้งๆ
  • ยากที่จะสามารถวินิจฉัยได้ด้วยภาพรังสีทรวงอกหรือผลเพาะเชื้อ

3. Late Primary progessive :

  • อาการไอเพิ่มมากขึ้นและอาการแสดงต่างๆ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
  • ปอดพบเสียง rales, น้ำหนักลดลงชัดเจน อาจมีโลหิตจาง
  • วินิจฉัยพบเชื้อได้ด้วยผลเพาะเชื้อ ภาพรังสีทรวงอกพบรอยโรค

4. Latent Tuberculosis Infection :

  • เชื้ออาศัยอยู่ในร่างกาย ไม่มีอาการแสดงเกิดขึ้น
  • มีความไวต่อการติดเชื้อมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อมีภูมิคุ้มกันบกพร่องไป
  • พบ Granuloma ที่ alveoli ซึ่งพบด้วยภาพรังสีทรวงอก

       อาการที่สำคัญของวัณโรคปอด  คือ ไอเรื้อรังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ คือ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ (มักจะเป็นตอนบ่าย เย็น หรือตอนกลางคืน) ไอมีเลือดปน (hemoptysis) เจ็บหน้าอก หายใจขัด ในกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี อาการไอ ไม่จำเป็นต้องนานถึง 2 สัปดาห์ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน เป็นข้อบ่งชี้ที่ควรสงสัยว่าอาจจะกำลังป่วยเป็นวัณโรคร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยวัณโรค[2]

1.การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ : มีบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บางแห่งสามารถให้บริการได้

2.การถ่ายภาพรังสีทรวงอก : มีความไวค่อนข้างสูงแต่ความจำเพาะไม่สูง จึงต้องตรวจเสมหะควบคู่ไปด้วย

3.การตรวจเสมหะโดยการเพาะเลี้ยงเชื้อ : ทำในกรณีผู้ป่วยวัณโรคเสมหะไม่พบเชื้อ, ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่ต้องตรวจเสมหะเพื่อติดตามการรักษา, ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคนอกปอด

4.การตรวจทางอณูชีววิทยา : มีความรวดเร็วในการช่วยวินิจฉัยเชื้อ และมีความไวในการตรวจพบสูง

5.วิธีการอื่นๆที่ช่วยในการวินิจฉัยวัณโรค : 

  • การทดสอบผิวหนัง (tuberculin skin test: TST) มีประโยชน์ในเด็กอายุต่ำกว่า   5 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน BCG
  • การตรวจ Interferon Gramma Release Assay (IGRA) เป็นการทดสอบ เพื่อวินิจฉัยวัณโรคระยะแฝง

ยาที่ใช้รักษาวัณโรค

  • ยาวัณโรคที่ใช้เป็นหลัก (First line drugs) ได้แก่
  • ไอโซไนอะซิด (Isoniazid: H, INH
  • ไรแฟมพิซิน (Rifampicin: R, RMP)
  • พัยราซินาไมด์ (Pyrazinamide: Z, PZA
  • อีแธมบูทอล (Ethambutol: E, EMB)
  • สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin: S, Sm)

สูตรยาสำหรับผู้ป่วยใหม่ คือ 2HRZE/4HR

  • 2 เดือนแรกรักษาด้วย 4 ขนานยา คือ H, R, Z และ E

    4 เดือนต่อมารักษาด้วย 2 ขนานยา คือ H และ R

กระแสทั่วโลกในปัจจุบัน

  • ได้กำหนด วันวัณโรคสากล วันที่ 24 มีนาคม
  • WHO ได้ประกาศต่อสู้สู่จุดจบของวัณโรค เป้าหมายคือ หยุดการแพร่ระบาด และกำจัดเชื้อวัณโรค ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการทางการแพทย์ เป็นผู้ขับเคลื่อนและผลักดันโครงการเพื่อให้สำเร็จลุล่วง[3]
  • ประเด็นในการรณรงค์[4]

          1.“ค้นให้พบ จบด้วยหาย”

          การเร่งค้นหาผู้ที่มีอาการเข้าได้กับวัณโรค และรักษาผู้ป่วยวัณโรคทุกรายให้หายขาด

          2.“เข้าถึงทุกราย รักษาหายทุกคน”

         ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงชาวต่างชาติทุกชาติทุกคน ทั้งมีสิทธิการรักษาหรือไม่มีสิทธิการรักษาใดใด มีสิทธิที่จะได้รับการตรวจรักษาวัณโรคทุกคน

เอกสารอ้างอิง

1.นิตยาวรรณ กุลณาวรรณ, วีรชัย ไชยจามร, เสถียร พูลผล, เบญจพร กิ่งรุ่งเพชร์, สมหญิง พุ่มทอง, โพยม วงศ์ภูวรักษ์, และคณะ. การใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค. เภสัชกรรมชุมชน. 2015;14(79):59-64.

2.สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดำเนินงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติ พ.ศ. 2556. 2556: หน้า 15.

3.WHO.int. World TB Day 2015: Gear up to end TB [Internet]. 2015 [cited 14 August 2015]. Available from: http://www.who.int/campaigns/tb-day/2015/en/

4.สํานักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. [อินเตอร์เน็ต]. 2558 [วันที่อ้างถึง 14 สิงหาคม 2558]. ที่มา: http://www.tbthailand.org/download/wordtbday.pdf