พรมมิ คืออะไร

คำถามถูกตั้งเมื่อ  2017-08-01 11:35:34  จำนวนผู้เข้าชม 708

รายละเอียดคำถาม

คำถาม:

อยากทราบว่า คือ อะไร มีคุณสมบัติอย่างไร มีผู้แนะนำให้รับประทาน ควรรับประทานไหม มีข้อเสียอย่างไร

ซื้อได้ที่ไหน

ข้อมูลผู้ป่วย:
เพศ: ไม่ระบุ  อายุ: ไม่ระบุ   น้ำหนัก: ไม่ระบุ   ส่วนสูง: ไม่ระบุ
โรคประจำตัว:
ไม่ระบุ
ประวัติการแพ้ยา/อาหาร/สารเคมี/อื่นๆ:
ไม่ระบุ
ข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติม:
ไม่ระบุ
ข้อมูลที่สืบค้นได้:

 พรมมิ หรือ ผักมิ (ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Bacopa monnieri ) เป็นพืชสมุนไพรที่ถูกจับตามองในแง่ของการใช้เป็นยาบำรุงสมองและความจำ สรรพคุณของพรมมิตามตำรายาไทยนั้น ใช้เป็นยาขับโลหิต แก้ไข้ ขับพิษร้อน ขับเสมหะ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ และบำรุงประสาท และในตำราอายุรเวทของอินเดียพบว่า เป็นเวลากว่า 3,000 ปีมาแล้วที่พรมมิถูกนำมาใช้เป็นยาเพื่อช่วยฟื้นฟูความจำ และบำรุงสมอง

            การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิต่อระบบประสาท การกระตุ้นการเรียนรู้ และความจำพบว่า สารออกฤทธิ์สำคัญที่มีผลต่อระบบประสาทที่พบในต้นพรมมิเป็นสารในกลุ่ม triterpenoid saponin ที่ชื่อว่า bacoside ซึ่งชนิดที่มีรายงานการศึกษามากที่สุดได้แก่ bacoside A และ bacoside B ในการศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อการฟื้นฟูความจำในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป) โดยให้อาสาสมัครรับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300-450 มก. (ประกอบด้วยสารสกัด bacosides อย่างน้อย 40%) พบว่า อาสาสมัครมีทักษะในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทดสอบความจำดีขึ้น และการศึกษาในเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-18 ปี โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิวันละ 1 แคปซูล (ประกอบด้วยสารสกัดพรมมิมาตรฐาน 225 มก.) นาน 4 เดือนพบว่า พรมมิมีผลช่วยเพิ่มพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กได้เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ยังพบว่าการให้เด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) รับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 50 มก. (ประกอบด้วย bacosides 20%) วันละ 2 ครั้ง มีผลช่วยให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น และจากการศึกษาความเป็นพิษของพรมมิในอาสาสมัครสุขภาพดี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิ (BacoMindTM) ขนาด 300 มก./วัน ติดต่อ 15 วัน และตามด้วยขนาด 450 มก./วัน อีก 15 วันไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด แต่มีอาสาสมัครบางรายมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และมีอาการคลื่นไส้  

            ผลการศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อประสิทธิภาพของกระบวนการคิด การเรียนรู้ และการฟื้นฟูความจำในระดับคลินิกส่วนใหญ่ให้ผลในเชิงบวก และค่อนข้างปลอดภัย ดังนั้น สมุนไพรพรมมิจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้เป็นยาเพื่อบำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะความจำเสื่อมได้ หากต้องการทราบข้อมูลงานวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิต่อระบบประสาท การช่วยฟื้นฟูความจำ และพัฒนาการในการเรียนรู้โดยละเอียด สามารถติดตามอ่านได้จากจุลสารข้อมูลสมุนไพร ฉบับ 29(3) และ 29(4)

http://www.medplant.mahidol.ac.th/document/bacopa.asp


วัตถุประสงค์การถาม:

เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วย, เพื่อเพิ่มเติมความรู้/วิจัย



คำตอบ 1

รายละเอียดคำตอบ:

พรมมิ

พรมมิ (Brahmi) เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ขึ้นในที่น้ำชุ่ม มีดอกสีขาวหรือม่วงอ่อน เป็นพืชในเขตร้อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bacopa monnieri เป็นสมุนไพรโบราณที่มีบันทึกในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย เมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน

ปัจจุบันมีการวิจัยพบว่า พรมมิช่วยเพิ่มความจำ มีสมาธิมากขึ้น บำรุงสมอง เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และความจำ ลดความกังวล คลายอาการซึมเศร้า มีสารบำรุงประสาท ปกป้องสมองไม่ให้ความจำเสื่อม

สารสำคัญ

กลุ่มซาโปนิน (Saponins) ไตรเทอร์ปีน(Triterpenes) ดัมมาแรน(Dammaranes) เช่น สารที่มีชื่อว่า บาโคไซด์ เอ (Bacosides A) บาโคไซด์ บี (Bacosides B) บาโคไซด์ ซี (Bacosides C) บาโคซัปโปไนน์ ดี(Bacosaponines D) บาโคซัปโปไนน์ อี(Bacosaponines E) และบาโคซัปโปไนน์ เอฟ (Bacosaponines F) โดยสารสำคัญที่ช่วยเพิ่มความจำ คือ Bacosides A, B ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มการส่งสารสื่อประสาท การสร้างสารสื่อประสาท เพิ่มการเรียนรู้ ต้านการสันดาปที่เกิดกับเซลล์ประสาท ปกป้องสมองจากอัลไซเมอร์

กลไกการออกฤทธิ์

  • ยับยั้งอะซิทิลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase: AchE) ซึ่งเป็นสารที่ทำลายสารสื่อประสาท เมื่อเซลล์ประสาทจะส่งสัญญาณถึงกัน เซลล์ประสาทจะใช้สารเคมีเป็นตัวส่ง หากในร่างกายมี AchE มากสารตัวนี้จะทำลายสารเคมีที่สื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถติดต่อกันได้จึงขาดข้อมุล พบว่า ผู้ที่หลงลืม ความจำไม่ดี คนชรา ผู้ป่วย อัลไซเมอร์ จะมี AchE มาก ซึ่งเป็นตัวทำลายสารสื่อประสาท ส่งผลให้เซลล์ประสาทไม่สามารถติดต่อกันได้ จึงหลงลืม
  • ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของกระบวนการ ERK1/2 และ Akt phosphorylation ผลที่ได้ผลเซลล์ไม่เกิดการตาย ซึ่ง ERK1/2 ใน ERK/MAPK signaling pathway และ Akt ใน PI3K/Akt signaling pathway มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและการรอดชีวิตของเซลล์ โดย ERK1/2 จะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและชนิดของเซลล์ ในขณะที่ Akt จะเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการตายของเซลล์แบบ apoptosis การกระตุ้นกระบวนการ ERK1/2 และ Akt phosphorylation จะทำให้ ERK1/2 และ Akt เพิ่มขึ้น การรอดชีวิตของเซลล์จึงเพิ่มขึ้น
  • ต้านอนุมูลอิสระ

การทดสอบด้านความประสิทธิภาพ

  • การทดสอบทางคลินิกในมนุษย์พบว่า พรมมิช่วยเพิ่มความจำในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยให้เด็กนักเรียนรับประทานสารสกัด 350 mg/day เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าสามารถเพิ่มการเรียนรู้ได้
  • การทดสอบทางคลินิกพบว่ารับประทานสารสกัดพรมมิ 300 mg ในอาสาสมัครสุขภาพดี 38 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี ช่วยเพิ่มความจำ
  • ฤทธิ์ในการรักษาอัลไซเมอร์ได้ ผลงานวิจัยที่ทดสอบในหนูพบว่าสามารถป้องกันการสูญเสียความจำ และลดการทำลายสารสื่อประสาทในสมอง (Acetylcholinesterase; AchE) 
  • การทดลองในผู้สูงอายุ ซึ่งอายุมากกว่า 55 ปี โดย การรับประทานสารสกัดพรมมิ 300-600 mg/day ผลพบว่าคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว เพิ่มการตื่นตัวต่อสิ่งเร้า ลดความกังวล
  • การศึกษาฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมองของสารสกัด 95% เอทานอล ของส่วนเหนือดินของพรมมิ (Bacopa monnieri; BM) ในเซลล์สมอง SH-SY5Y neuroblastoma จากการถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการตายด้วยสาร tert -Butyl hydroperoxide (TBHP) ขนาด 100 ไมโครโมลาร์ โดยให้สาร BM ในขนาด 100 - 250 ug/mL จากการทดลองพบว่าสาร BM สามารถยับยั้งความเป็นพิษต่อเซลล์ของสาร TBHP ได้ และสาร BM ที่ขนาด 250 ug/mL ยังไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์สมองอีกด้วย ซึ่งคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์ปกป้องเซลล์น่าจะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของกระบวนการ ERK1/2 และ Akt phosphorylation เนื่องจากการออกฤทธิ์ของสาร BM ถูกทำลายด้วยERK1/2 และ PI3K inhibitors ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสาร BM มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์สมอง จากการถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการตายด้วยสาร TBHP ผ่านการกระตุ้น ERK/MAPK และ PI3K/Akt signaling pathways
  • การศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมอง และต้านการเกิดภาวะออกซิเดชั่นของพรมมิในหนูแรท โดยเสริมผงใบพรมมิ (BM leaf powder) ลงไปในอาหารของหนูแรทขนาด 0.5-1% ให้หนูกินต่อเนื่องนาน 30 วัน พบว่าสามารถปกป้องสมองจากการเกิดภาวะออกซิเดชั่นได้ โดยสามารถลดระดับของผลิตภัณฑ์จากอนุมูลอิสระซึ่งได้แก่ malodialdehyde (MDA) ระดับสารก่อปฏิกิริยาที่ประกอบด้วยอะตอมออกซิเจนที่เป็นสารอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species, ROS) และโปรตีนคาร์บอนิล (proitein carbonyls content) ในสมองบริเวณ cortex, cerebellum, hippocampus และ striatum และเพิ่มการทำงานของเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านการเกิดอนุมูลอิสระได้แก่ catalase, glutathione peroxidase และ superoxide dismutase นอกจากนี้ยังมีผลลดการทำงานของเอ็นไซม์ acetylcholinesterase (AChE) ที่เป็นเอ็นไซม์ที่ทำหน้าที่ทำลายสารสื่อประสาท acetylcholine (ACh) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรมมิมีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้สมองถูกทำลายจากการเกิดภาวะออกซิเดชั่น

การทดสอบด้วยความปลอดภัย

  • ให้หนูกินสารสกัดพรมมิ 500 mg/kg ไม่พบพิษและความผิดปกติ 
  • การทดสอบทาง clinical phase 1 ในมนุษย์ 23 คน โดยการรับประทานสารสกัดพรมมิ 300 mg/day เป็นเวลา 15 วัน และเพิ่มปริมาณเป็น 450 mg/day เป็น เวลา 15 วัน พบว่าปลอดภัย 
  • การทดลองในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อายุระหว่าง 60-65 ปี จำนวน 39 คน โดย การรับประทานสารสกัดพรมมิ 300 mg วันละ 2 เวลา ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน ผลพบว่าช่วยเพิ่มความจำโดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำวิจัยสารสกัดพรมมิอย่างครบวงจรพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และไม่มีพิษต่อร่างกาย

สรุป: ดังนั้นสมุนไพรพรมมิมีฤทธิ์ที่ดีมากในการยับยั้งอะซิทิลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase: AchE) สามารถปกป้องสมอง ต้านการเกิดออกซิเดชั่น และสามารถใช้สมุนไพรนี้ได้อย่างปลอดภัย

    นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่ช่วยเสริมฤทธิ์ พรมมิในการลดอาการอัลไซเมอร์ ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน แปะก๊วย และกระเทียม นอกจากนั้นพบว่า วิตามินเอ และวิตามินซี สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง:

คำสืบค้น:

พรมมิ, Bacopa monnieri efficacy

หมวดหมู่คำถาม:

Dietary supplement

ตอบคำถามโดย
Hospital Admin

2017-08-23 16:14:04
ระยะเวลาที่ใช้สืบค้น 3.00 ชั่วโมง

ความคิดเห็น

ยังไม่มีการมีการแสดงความคิดเห็นในคำถามข้อนี้